เทศกาลและงานประเพณีของจังหวัดตรัง
กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตรัง
เทศกาลและงานประเพณี
1) งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร ได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลกของ Guinness World Record จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ณ เกาะกระดาน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีคู่บ่าวสาวจำนวนมาก จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ร่วมขบวนแห่ขันหมากอันยิ่งใหญ่ไปยังสถานที่ถ่ายทำพิธีวิวาห์ จากนั้นคู่บ่าวสาวทุกคู่พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่และแขกผู้มีเกียรติ จะดำน้ำลงสู่ใต้ทะเลเพื่อทำพิธีรดน้ำสังข์ พิธีจดทะเบียนสมรสใต้ทะเล หลังจากนั้นจังหวัดจะจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีบริเวณชายทะเล พร้อมทั้งให้คู่บ่าวสาว ร่วมปลูกต้นไม้แห่งความรัก ณ สวนรวมพรรณไม้แห่ง ความรัก สวนพฤกษศาสตร์ภาคใต้ไว้เป็นที่ระลึกด้วย
2) งานเทศกาลขนมเค้ก จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เค้กเมืองตรังเป็นที่ขึ้นชื่อไปทั่วประเทศว่า เป็นเค้กที่อร่อย มีหลายแบบหลายรสให้เลือกซื้อ เป็นของฝากจากเมืองตรัง
3) งานเทศกาลหมูย่าง จัดขึ้นในเดือนกันยายน หมูย่างสูตรเมืองตรัง หนังกรอบ เนื้อหอมนุ่ม รสอร่อย จากกรรมวิธีหมักใส่เครื่องปรุง แล้วย่างทั้งตัวด้วยเตาย่างที่จัดทำเป็นพิเศษ ใช้แกล้มกาแฟหรือขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงต่าง ๆ
4) งานเทศกาลกินเจ จัดขึ้นเดือนตุลาคม เป็นประเพณีที่แปลกไม่เหมือนจังหวัดใดที่มีเทศกาลกินเจ มีการอัญเชิญองค์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประทับในร่างทรง ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ ไปตามอาคารบ้านเรือนซึ่งจัดโต๊ะบูชาไว้ต้อนรับ พร้อมทั้งแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหาร ด้วยการใช้ศาสตราวุธ ทิ่มแทงตามร่างกาย ปืนป่ายบันไดมีด การลุยไฟ ลุยดงหนาม ฯลฯ โดยมิได้มีอาการเจ็บปวดหรืออันตรายแต่ประการใด
5) งานเทศกาลอนุรักษ์หอยตะเภา จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนมีความสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์หอยตะเภาที่มีมากที่ชายหาดปากเมง อำเภอสิเกา แต่กำลังจะสูญพันธุ์ไป
6) งานเฉลิมพระชนมพรรษาและฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 5 - 15 ธันวาคมทุกปี รวบรวมวัฒนธรรม ประเพณี ของดีจากทุกอำเภอมาแสดง ประกวด แข่งขัน พร้อมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าของส่วนราชการและเอกชนในบริเวณงาน เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรังและของภาคใต้
7) ประเพณีไหว้พระจันทร์ งานประเพณีไหว้พระจันทร์จังหวัดตรัง หรืองานประเพณีไหว้พระจันทร์ตำบลทุ่งยาว ประเพณีอันเก่าแก่ที่ชาวทุ่งยาว ซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี ในคืนวันไหว้พระจันทร์ จะตรงกับวันเพ็ญเดือนแปดตามปฏิทินของจีนชาวบ้านจะพร้อมใจกันจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ไว้หน้าบ้านเรือนของตนเองเรียงรายสองข้างถนนรอบตลาดตำบลทุ่งยาว เป็นภาพที่สวยงามและมีมนต์เสน่ห์ยิ่งนัก นอกจากนี้ชาวทุ่งยาวส่วนหนึ่งจะแต่งกายด้วยชุดกี่เผ้า ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งวัฒนธรรมแบบจีนมากยิ่งขึ้น
8) ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีวันสารทเดือนสิบ หรือการทำบุญเดือนสิบ เป็นประเพณีการทำบุญให้กับวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยความเชื่อของชาวพุทธที่เชื่อว่าในวันสารทเดือนสิบนี้ ยมบาลจะปล่อยให้วิญญาณทั้งหลายที่รับกรรมอยู่ในนรกที่เรียกว่า "เปรต" นั้นขึ้นมารับส่วนบุญที่บรรดาญาติที่มีชีวิตอยู่ทำบุญอุทิศไปให้ การทำบุญเดือนสิบในจังหวัดตรัง จะมี 2 ครั้ง คือ วันแรม 8 ค่ำเดือน 10 กับ วันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งจัดที่วัดทุกวัดในจังหวัดตรัง
9) ประเพณีลากพระและมหกรรมวัฒนธรรมสัมพันธ์ งานประเพณี ลากพระ งานชักพระเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคใต้ ที่สืบทอดมายาวนานแล้ว โดยเฉพาะ จังหวัดตรังนั้น จะจัดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 สถานที่จัดงาน ณ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง (ทุ่งแจ้ง)
10) ประเพณีสงกรานต์ สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ จัดระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๔ เมษายนของทุกปี สถานที่จัดวัดทุกวัดในจังหวัดตรัง